ราเมงและเมนูเส้นในโทโฮคุที่คนท้องถิ่นต่างหลงรัก

ขอเชิญท่านเพลิดเพลินกับวัฒนธรรมอาหารจำพวกเส้นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและฝังรากลึกอยู่ในท้องถิ่นแต่ละแห่ง ตั้งแต่ราเมนท้องถิ่นซึ่งได้รับความนิยมในย่านนั้นๆ มาเป็นเวลายาวนาน ไปจนถึงโซบะซึ่งมีเอกลักษณ์ในการรับประทานอย่าง วังโกะโซบะและเนะงิโซบะ

วัฒนธรรมราเมงที่ฝังรากลึกในโทโฮคุ

"ราเมงเช้า" -วัฒนธรรมทานราเมงแต่เช้า-

"ราเมงคิตะคะตะ" มีชื่อเสียงในเมืองคิตะคะตะ จังหวัดฟุคุชิมะ เมืองนี้มีวัฒนธรรม "ราเมงเช้า" ซึ่งก็คือการทานราเมงตอนเช้า ในเมืองจะมีร้านราเมงประมาณ 120 ร้าน และเรามักจะเห็นคนท้องถิ่นเข้าไปทานราเมงกันแต่เช้า วัฒนธรรม "ราเมงเช้า" นี้ยังเห็นได้ในแถบอื่นๆ ของโทโฮคุอีกด้วย เช่น ตัวเมืองอาโอโมริ

ราเมงท้องถิ่นอันมีเอกลักษณ์หลากหลาย

ว่ากันว่าเมืองยะมะกะตะเป็นเมืองที่บริโภคราเมงมากที่สุดในญี่ปุ่น บางร้านก็มีจำหน่าย "ราเมงเย็น" ที่ใส่น้ำแข็งลงไปทำให้ทานในหน้าร้อนได้ง่าย นอกจากนี้ในแถบสึบะเมะ จังหวัดนิอิกะตะซึ่งอุตสาหกรรมแปรรูปโลหะและตีเหล็กเฟื่องฟู ยังมีการใส่ไขมันหมูลงไปเต็มๆ ใน "ราเมงไขมันสึบะเมะ" เพื่อให้คนงานได้ทานราเมงอุ่นๆ กัน ขอเชิญชวนมาลองสัมผัสราเมงท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมและที่มาที่ไปแบบเฉพาะตัว

โซบะโทโฮคุที่มีวิธีทานหลากหลาย

วังโกะโซบะ

"วังโกะโซบะ" อาหารท้องถิ่นของอิวะเตะ ทานด้วยความรวดเร็วเป็นจังหวะเดียวกับเสียงตอนเสิร์ฟ "ไฮ่ จังจัง ไฮ่ ดงดง" โซบะนี้จะแบ่งเป็นถ้วยเล็ก พอทานหมดแล้วคนเสิร์ฟก็จะคอยส่งชามใหม่ให้เรื่อยๆ ว่ากันว่าวิธีทานแบบนี้เกิดขึ้นเพราะผู้ใหญ่บ้านอยากให้ชาวบ้าน "ได้ทานโซบะจนอิ่มท้อง" ถือเป็นความบันเทิงในการทานอาหารเพราะได้ท้าทายตัวเองว่าจะทานได้กี่ชาม

เนะกิโซบะ

"เนะกิโซบะ" สามารถหาทานได้ตามแหล่งท่องเที่ยวและโอจิจุคุในแถบไอซุ จังหวัดฟุคุชิมะ โซบะนี้ทานโดยใช้ต้มหอมคีบแทนตะเกียบ ต้นหอมที่นำมาใช้เป็นตะเกียบสามารถแทะกินเป็นตัวเสริมรสชาติได้ มาสัมผัสบรรยากาศย้อนยุคกับบ้านหลังคามุงจากที่ตั้งเรียงรายในโอจิจุคุ แล้วมาลองทานเนะกิโซบะกัน

เฮะกิโซบะ

โซบะบัควีทสีออกเขียวจางๆ ที่ทานกันในจังหวัดนิอิกะตะ ทำจากโซบะที่ผสมสาหร่ายฟุโนะริลงไป เสิร์ฟใส่ในชามไม้สี่เหลี่ยมที่เรียกว่า "เฮะกิ" โดยแบ่งใส่ชามเป็นคำๆ และจัดเรียงอย่างประณีตเหมือนรอยถักด้าย สมเป็นทักษะของมืออาชีพ เสน่ห์คือเส้นเหนียวหนึบและลื่นคอ มีจุดเด่นที่ทานคู่กับมัสตาร์ดญี่ปุ่น ไม่ใช่วาซาบิ

โมะริโอะกะเรเมง, โมะริโอะกะจะจะเมง

""โมะริโอะกะเรเมง"" จุดเด่นคือเส้นเหนียวหนึบที่ทำด้วยแป้งสาลีกับแป้งสตาร์ช และซุปเนื้อรสเข้มข้น จะทานเดี่ยวๆ หรือจะทานคู่กับเนื้อย่างก็แนะนำเช่นกัน ""โมะริโอะกะจะจะเมง"" คืออาหารท้องถิ่นของชาวโมะริโอะกะ ทำโดยนำเส้นอุด้งแบนมาลวกจนอุ่นแล้วคลุกกับมิโสะเนื้อ แตงกวาและขิงบด ราดด้วยท็อปปิ้งตามใจชอบเช่นน้ำมันรายุ, น้ำส้มสายชู, กระเทียมบด 

อินะนิวะอุด้ง

อินะนิวะอุด้งถือกำเนิดในอินะนิวะโจ เมืองยุซะวะ ขั้นตอนการนวดเส้น, ทุบเส้น, รีดเส้น ทำด้วยมือทุกขั้นตอน จุดเด่นคือความเหนียวนุ่มและความลื่นคอ เป็นหนึ่งในสามอุด้งที่อร่อยที่สุดในญี่ปุ่น ในสมัยเอโดะ เคยถูกนำไปมอบให้ผู้ครองแคว้นเป็นบรรณาการ และถูกใช้เป็นของกำนัลเมื่อผู้ครองแคว้นเข้าไปรายงานตัวในเมือง นอกจากเมืองยุซะวะแล้ว ที่อื่นในจังหวัดอะคิตะ เช่น ตัวเมืองอะคิตะ ก็สามารถหาอินะนิวะอุด้งทานได้เช่นกัน

ชิโระอิชิอูเมง (อูเมง)

ชิโระอิชิอูเมง ของขึ้นชื่อประจำเมืองชิโระอิชิ จังหวัดมิยะกิ ไม่ใช้น้ำมัน ใช้เพียงแป้งสาลีและน้ำเกลือเท่านั้น จุดเด่นคือสัมผัสลื่นคอและรสชาติเบาๆ สไตล์เรียบหรู ชิโระอิชิอูเมงถือกำเนิดขึ้นในสมัยเอโดะ จากความกตัญญูที่อยากทำอาหารอ่อนๆ ให้พ่อที่ท้องไส้ไม่ดีได้ทาน อูเมงดีต่อระบบย่อยอาหารเพราะไม่ใช้น้ำมัน เส้นก็ยาวเพียง 9 ซม.ทานง่าย จึงเป็นที่นิยมในหมู่วัยเด็กไปจนถึงวัยสูงอายุ